จำได้ว่าครั้งหนึ่ง เดี่ยว ไมโครโฟน ของคุณโน้ต อุดม เคยเล่าถึงความชื่นชอบของเขาในการรับประทานเนื้อย่าง ซึ่งเขาได้เล่าว่าเวลาไปร้านเนื้อย่างของญี่ปุ่น สิ่งที่เขาประทับใจมากคือการที่เนื้อแต่ละส่วนจะมีป้ายเล็ก ๆ ปักมาบนเนื้อ บนป้ายเป็นเรื่องเล่าหรือรายละเอียดของเนื้อส่วนนั้น ๆ ซึ่งทำให้การย่างเนื้อแต่ละชิ้นเข้าปาก ดูมีความหมายมาก ๆ
ผมเองได้ฟังแล้วก็นึกถึงรูปแบบการถ่ายทอดเรื่องราวแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าทำได้ดี ก็จะกลายเป็นหนึ่งอาวุธเด็ดของการทำ Content Marketing เลยก็ว่าได้ และหลาย ๆ แบรนด์ก็นำมาใช้โดยที่ผู้บริโภคอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ นั่นก็คือการทำ “Storytelling”
ซึ่ง Storytelling จริง ๆ แล้วเป็น วิธีการถ่ายทอดเรื่องราว โดยอาจจะเรียกได้ว่ามันเป็นศิลปะของการเล่าเรื่องให้คนฟังรู้สึกมีส่วนร่วมไปด้วย ดังนั้นผู้ที่เล่าเรื่องจะต้องสามารถ่ายทอดข้อความ สิ่งที่ต้องการจะสื่อ หรือความรู้บางอย่างในแบบที่ทำให้ฟังแล้วเพลิดเพลิน เพื่อให้ผู้ฟังสามารถจดจำเรื่องราวและรับรู้ประสบการณ์ได้ เป็นศาสตร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายไม่จำกัดเฉพาะวงการการตลาดเท่านั้น แม้กระทั่งวงการการศึกษา เวลาสอนเด็ก ๆ คุณครูก็มีการใช้เทคนิคการเล่าเรื่องเพื่อให้นักเรียนได้รับรู้ข้อมูลอย่างไม่เบื่อ และจดจำได้ดีขึ้นเช่นกัน
สำหรับนักการตลาดนั้น การทำ Storytelling จะช่วยให้ลูกค้ารับรู้ประสบการณ์ของแบรนด์ เข้าใจที่มาที่ไป และช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วมได้ดี ซึ่งในปัจจุบันนั้นเราต้องยอมรับว่าวัน ๆ หนึ่งลูกค้าต้องเจอกับข้อความและโฆษณากว่าหลายพันข้อความต่อวัน การทำ Storytelling ที่ดีจึงจะช่วยให้แบรนด์สามารถสื่อสารความตั้งใจของแบรนด์โดยที่ไม่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดให้จำข้อมูลอีกด้วย
การทำ Storytelling นั้นมีหลากหลายรูปแบบมากครับ หลักการสำคัญของมันคือการที่เราต้องดึงความสนใจของคนดูให้ติดตามเรื่องราวให้ได้ ดังนั้นการจะทำ Storytelling เรื่องหนึ่งให้น่าสนใจ อาจจะต้องพึ่งหลาย ๆ องค์ประกอบมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็น การเลือกเรื่องราว การวางลำดับเรื่อง ภาษาหรือลักษณะการเล่าเรื่อง อาจจะเริ่มต้นจาก 3 องค์ประกอบนี้ในการวางเรื่องราวแบบคร่าว ๆ ได้ครับ
ข้อแรก ดึงให้อิน ด้วยการทำให้เป็น Personalization หรือการทำให้คนดูรู้สึกอิน เป็นหนึ่งในตัวคนดำเนินเรื่อง หรือมีประสบการณ์คล้ายกัน ทำให้รู้สึกร่วมไปกับเรื่องที่เรากำลังเล่า
ข้อสอง ดึงอารมณ์ร่วม Emotion การเล่าเรื่องที่ดี ควรกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับเรื่อง เช่น ตื่นเต้น สงสัย ฮึกเหิม
ข้อสาม ดึงข้อมูลมาประกอบ upporting Data มีข้อมูลรองรับในการเล่าเรื่องเสมอ ซึ่งจะทำให้เรื่องที่เล่าไปดูมีความน่าสนใจและน่าเชื่อถือมากขึ้น
พอจะเข้าใจกันแล้วใช่ไหมครับว่าการทำ Storytelling สำคัญสำหรับการทำการตลาดมากแค่ไหน วันนี้นี้พูดถึงความสำคัญ แต่วันข้างหน้านั้นเรามาลองดูกันอีกครับว่าวิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ จะมีเทคนิคแบบไหนที่เอามาแบ่งปันกันได้บ้าง ครั้งหน้าจะเป็นเรื่องอะไรอย่าลืมติดตามกันนะครับ และอย่าลืมเข้าไปติดตามเรื่องการตลาดน่ารู้ตอนเก่า ๆ ของเราได้ที่ http://www.createxhouse.com/blog/ แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้าครับ
CreatexHouse #Createx #Marketing #Storytelling