Skip to content
image

3 หัวใจสำคัญ เล่าเรื่องแบรนด์ให้ดีต่อคนอ่าน ง่ายต่อคนทำ

ในการสร้างช่องทาง Social Media ขึ้นมาสักช่องทางหนึ่ง การจะพูด จะบอกให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย แน่นอนว่าสิ่งแรกที่แบรนด์ต้องทำคือการสำรวจและทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมายให้ดี ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล Demographic พฤติกรรมต่าง ๆ หรือสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจ ซึ่งแม้บางครั้ง หลายแบรนด์จะมีข้อมูลนี้อยู่ในมือ แต่ก็อาจจะเริ่มต้นไม่ถูกในการที่จะวางกลยุทธ์และออกแบบเนื้อหาเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพ

ทำอย่างไรให้การบอกเล่าเรื่องราวในช่องทางสื่อสารของแบรนด์นั้นเวิร์ก?​

ขอชวนทุกคนมาดูคำแนะนำในการคิดแกนหลักในการเล่าเรื่อง การเลือกเวลาโพสต์ และการคิดรูปแบบนำเสนอคอนเทนต์ ที่นำเอาข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายมาประกอบในการวางแผนกันว่าหลังจากที่เราได้สำรวจและพอเห็นภาพว่ากลุ่มเป้าหมายของเราต้องการอะไร จะต้องทำอย่างไรในขั้นตอนต่อไปให้การสร้างคอนเทนต์ของแบรนด์ดีต่อทั้งคนอ่านและง่ายต่อทั้งคนทำกันครับ

สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงเมื่อจะทำคอนเทนต์นั่นก็คือ “เรื่องราว” ที่แบรนด์จะนำเสนอออกไป การหาแกนหลักที่จะทำให้ภาพรวมการเล่าเรื่องและการสื่อสารของแบรนด์ในแต่ละช่องทางมีความชัดเจน และเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่แบรนด์ต้องวางแผนกันก่อนครับ

การกำหนดหมวดหมู่เรื่องที่จะสื่อสาร ปกติเราจะมีคำศัพท์ที่เรียกสิ่งนี้กันว่า Content Pillar ครับ ซึ่งแบรนด์เริ่มทำได้โดยการนำเอาข้อมูลที่กลุ่มเป้าหมายสนใจมากำหนดแยกเป็นหมวดหมู่กว้าง ๆ เช่น กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่สนใจในการออม การลงทุน เราอาจจะกำหนด Content Pillar ที่จะสื่อสารในเพจแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ คือ คำแนะนำการลงทุน ข่าวธุรกิจอัปเดต หรือเคสประสบความสำเร็จเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ

ตัวอย่างที่สอง หากเรากำลังจะสร้างช่องทางเพื่อคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรักษ์โลก สนใจการคัดแยกขยะ เราอาจจะกำหนด Content Pillar แบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ คือ การคัดแยกขยะ นวัตกรรมน่าสนใจ หรือการชวนคนใจเพจคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม

จากตัวอย่างเราจะเห็นได้ว่าหมวดหมู่ในการทำ Content Pillar จะเป็นหัวข้อกว้าง ๆ ไม่ได้กำหนดเรื่องที่เฉพาะเจาะจง เพราะสิ่งนี้จะเป็นแกนหลัก เพื่อให้คิดคอนเทนต์ต่อออกไปได้อีก เช่น การคัดแยกขยะ คอนเทนต์ที่อยู่ในหมวดหมู่นี้ ก็เป็นหัวข้อได้ตั้งแต่ขยะพลาสติกมีกี่ประเภท แยกขยะทิ้งได้ที่ไหนบ้าง หรือแยกขยะชิ้นนี้ทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่งดีต่อคนทำที่รู้ว่าแบรนด์จะพูดอะไรได้บ้าง หรือไม่ได้บ้าง รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายที่คอยติดตามก็ทำให้ทราบแนวทางของเนื้อหาว่าเพจนี้ ช่องนี้ในภาพรวมพูดถึงอะไรบ้าง

พอได้เรื่องที่จะสื่อสารแล้ว รูปแบบของคอนเทนต์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงและวางแผนเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่ได้ไปสำรวจมา

สำหรับการออกแบบนั้น ให้แบรนด์กลับไปหยิบข้อมูลและย้อนดูที่พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เราสำรวจกันไว้ก่อนหน้าว่า พวกเขาชอบดูวิดีโอ ชอบอ่านยาว ๆ หรืออ่านสั้น ๆ ชอบความตลกก็อาจจะใช้มีมเข้ามาช่วย เพื่อให้คอนเทนต์ของเราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุดนั่นเอง 

ตัวอย่าง ช่องการสื่อสารที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้สูงวัย รูปแบบของคอนเทนต์อาจจะเน้นไปที่วิดีโอที่ไม่ต้องอ่าน เน้นเปิดฟัง เห็นภาพเคลื่อนไหวชัดเจน มากกว่ารูปภาพที่มีข้อความเยอะ ๆ เพราะผู้สูงวัยอาจจะอ่านตัวหนังสือในจอไม่ถนัด ต้องคอยซูมดู เป็นต้น

การกำหนดรูปแบบคอนเทนต์ นอกจากจะดีกับคนอ่านแล้ว ยังดีต่อคนทำงานที่จะได้เห็นภาพรวมว่า แต่ละเดือน เราจะต้องทำชิ้นงานรูปแบบไหนบ้าง และวางแผนในการผลิตชิ้นงานได้อย่างเหมาะสม

สุดท้ายเมื่อเรามีเรื่องที่จะสื่อสารและรูปแบบที่จะนำเสนอเรียบร้อยแล้ว เวลาในการโพสต์คือสิ่งที่เราต้องวางแผนว่าต้องการโพสต์วันไหน เวลาไหนบ้าง โดยนำพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายมาอ้างอิง ถึงแม้ว่าแบรนด์อาจมีการวางแผนซื้อ Media แต่การเลือกเวลาที่สอดคล้องกับพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายก็จะยิ่งช่วยให้คอนเทนต์ไปถึงได้มากขึ้น เช่น กลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงานออฟฟิศที่ชอบเล่นโซเชียลช่วงเวลาเดินทางกลับบ้าน ก็อาจจะวางเวลาโพสต์ไว้ช่วง 17.00 – 19.00 น. โดยโพสต์วันจันทร์-ศุกร์ 

การวางแผนแบบนี้ นอกจากคนอ่านจะได้เห็นคอนเทนต์ของเราในเวลาที่เหมาะสม คนทำงานอย่างเราก็จะได้มีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการผลิตชิ้นงานด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก:
https://www.socialmediatoday.com/news/how-to-create-content-pillars-infographic/646844/
https://www.rainmaker.in.th/how-to-plan-idea-content-pillar/
https://www.thumbsup.in.th/content-pillar-core-content

#CreatexHouse #ContentStrategy

ชาว Ads Optimizers รู้ยัง? Meta Exclude Target ใช้ไม่ได้แล้วนะ
อัปเดตตำแหน่งโฆษณา LINE Ads 2024
Meta ประกาศลบ Filter / AR Effect จากครีเอเตอร์ทั้งหมดในปีหน้า