ในขณะที่หลายแบรนด์อาจกำลังวางแผนมุ่งทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Gen Z แต่รู้ไหมว่าในอนาคตก็ยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “กลุ่มผู้สูงอายุ”
จากสถิติบ้านเรา ตอนนี้ก็ถือว่ามีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2565 คนกลุ่มนี้มีมากกว่า 12 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 18.3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) ตามเกณฑ์ขององค์กรสหประชาชาติเรียบร้อยแล้วในปี 2565 ครับ เราเลยจะชวนมาดูกันว่า หากแบรนด์สนใจที่จะเจาะตลาดวัยเก๋าจะมีแนวทางการทำตลาดอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้แบรนด์เข้าถึงและเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคสูงวัยกันครับ
👉🏻 1. ไม่คิดแทนหรือมองภาพผู้สูงวัยแบบเดิม ๆ
หากจะทำการตลาดกับคนกลุ่มนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือแบรนด์ควรทำเข้าใจพฤติกรรม วิธีการมองโลก แนวคิด การใช้ชีวิตของพวกเขาให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะการมองว่าคนวัยนี้แก่ เฉยชา หัวโบราณ ไม่กระตือรือร้น หรือไม่กล้าลองสิ่งใหม่ ๆ อาจทำให้พลาดโอกาสในการเข้าถึงพวกเขาเป็นอย่างมาก ซึ่งก็มีหลายงานวิจัยที่บอกเราว่าผู้สูงอายุไม่ใช่แบบที่เราคิดเสมอไป เช่นงานวิจัยจาก Age of Majority ที่พบว่า กว่า 95% ของผู้สูงอายุที่ทำแบบสำรวจออกกำลังกายนอกบ้านเกือบทุกวัน และอีกกว่า 52% ชอบที่จะลองสินค้าใหม่ ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รองเท้าสุขภาพ เป็นต้น
ดังนั้น การสื่อสารที่มองว่าผู้สูงวัยแตกต่างออกไปจากที่คนอื่นเคยมอง เช่น ทันสมัย แต่งตัวเก่งไม่แพ้เด็กวัยรุ่น ทันเทคโนโลยี ดูฉลาด ก็อาจช่วยให้แบรนด์ได้ใจคนกลุ่มนี้ไปเต็ม ๆ
👉🏻 2. ทำการตลาดสื่อสารในเชิงบวก ไม่ใช้ความกลัวมาครอบงำ
เรื่องของวัย อายุ หรือร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เป็น inisight ที่แบรนด์เลือกหยิบมาใช้ในการสื่อสารได้ แต่ไม่ควรสื่อสารให้ดูน่ากลัว ดูน่าวิตกกังวล เพราะผู้สูงอายุเองก็ต้องการหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิตต่อไป แม้จะอายุมากขึ้นทุกวันก็ตาม การสื่อสารในเชิงบวก เช่น การบอกว่าแบรนด์มีตัวช่วย มีสิ่งที่ทำให้ชีวิตพวกเขาง่ายขึ้น ก็สามารถทำให้ผู้บริโภคสูงวัยสนใจได้
👉🏻 3. ทำการตลาดแบบย้อนวัย (Nostagia)
เพราะผู้สูงอายุผ่านเหตุการณ์มามากมาย และมีประสบการณ์กับเรื่องราวต่าง ๆ การทำตลาดแบบย้อนวัยที่เอาความรู้สึกในช่วงนั้น ๆ มาให้รำลึกความหลัง หรือการนำเอาเขามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ก็อาจช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและช่วยเพิ่มเอนเกจเมนต์กับแคมเปญหรือคอนเทนต์ต่าง ๆ คอนเทนต์ได้ด้วยเช่นกัน
👉🏻 4. ทำการตลาดแบบบอกต่อ
เพราะผู้สูงวัยอาจไม่ใช่ผู้บริโภคกลุ่มแรกที่เข้ามาสนใจสินค้าผ่านการโฆษณาโดยตรง การทำ Testimonial ให้น่าเชื่อถือ หรือมีรีวิวจากผู้ใช้จริงโดยเฉพาะคนในวัยเดียวกัน หรือจากดาราคนดังที่พวกเขาชื่นชอบ จะช่วยให้ผู้บริโภคสูงวัยสนใจสินค้า บอกต่อ และชักชวนเพื่อน ๆ มาหาแบรนด์ได้นั่นเอง
👉🏻 5. ใช้ภาษาในการสื่อสารให้เหมาะสม
แม้ทุกวันผู้สูงวัยจะเล่นโซเชียลกันเก่งมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจในคำศัพท์ฮิตหรือคำแสลง การเลือกใช้ภาษาที่คนส่วนใหญ่เข้าใจจึงช่วยให้สื่อสารกับพวกเขาได้ง่ายกว่า เพราะผู้บริโภคสูงวัยรู้ว่าชัดแบรนด์ต้องการอะไร อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ไม่ต้องตีความ จะให้คลิกซื้อ หรือดาวน์โหลดก็ทำตามได้ง่ายกว่าเดิม
ขอบคุณข้อมูลจาก:
https://urbancreature.co/aged-society/
https://www.forbes.com/sites/charlesrtaylor/2021/05/04/breaking-down-myths-about-marketing-to-older-consumers/
https://www.warc.com/content/paywall/article/bestprac/what-we-know-about-marketing-to-older-adults-55/en-GB/117503?
#CreatexHouse #MarketingforOlder