หากคุณรู้สึกว่าสินค้าของเราเริ่มเงียบเหงา คนเริ่มไม่ค่อยสนใจสักเท่าไหร่ ลองทำให้มูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้นด้วยการเล่นตัวดูไหมครับ? เคยมีคำกล่าวว่าอะไรที่ได้มายาก ๆ อาจจะทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากขึ้น ซึ่งก็คล้ายกับแนวคิดของกลยุทธ์การตลาดแบบ Limited Edition หรือการออกคอลเลคชั่นพิเศษ ที่อาจจะช่วยกระตุ้นความตื่นเต้นของลูกค้าให้หันมาสนใจสินค้าได้มากกว่าเดิม
มนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของการทำสินค้าแบบ Limited Edition ก็คือการทำให้สินค้าที่เราขายอยู่ทุกวัน มีความพิเศษจนดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่หรือจับใจลูกค้าเก่าได้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งทำให้สามารถกระตุ้นยอดขายและสร้างกระแสความสดใหม่ในตลาดของเราให้คึกคักขึ้น โดยกลยุทธ์การทำสินค้าแบบ Limited Edition หรือที่เรียกกันว่าสินค้ารุ่นพิเศษหรือสินค้ารุ่นจำกัดนี้ เมื่อใช้ในทางการตลาดจะหมายถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน
เช่น สินค้าเดิมแต่ลายใหม่ ออกแบบเป็นลวดลายพิเศษตามเทศกาลหรือโอกาสสำคัญ ๆ หรือสไตล์แบรนด์เดิมแต่ไปอยู่บนสินค้าแบรนด์อื่นจนกลายเป็นสินค้าใหม่ เช่นการคอลแลปกับศิลปินดัง คอลแลปกับแบรนด์อื่น ๆ หรืออาจจะเป็นสินค้าคอลเลคชั่นที่จำกัดจำนวนพิเศษเท่านั้น หรืออาจจะวางจำหน่ายในบางแห่ง เช่น จำหน่ายแค่บางสาขา หรือจำหน่ายออนไลน์ ไม่มีจำหน่ายหน้าร้าน เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อเราใช้กลยุทธ์การขายสินค้าแบบ Limited Edition จึงทำให้ตัวสินค้าแฝงมาด้วยความรู้สึกที่บ่งบอกถึงความฉับไว ความพิเศษเฉพาะตัว และความน้อยชิ้น เพราะสินค้า Limited Edition ที่มักได้ผลดีจะมีการจำหน่ายในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือจำกัดจำนวนชิ้นนั่นเอง และนั่นก็คือความพิเศษที่ทำให้มันสามารถกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี จากการเล่นกับความกลัวพลาด และการสร้างความรู้สึกพึงพอใจที่ได้ครอบครองสินค้ารุ่นพิเศษไม่ซ้ำใคร
ส่วนเหตุผลที่การทำ Limited Edition เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของการตลาดที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์ก็เพราะว่า มันสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตลาดระยะยาวในการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงได้ หรือแม้กระทั่งใช้เป็นไม้ตายของแบรนด์เก่าให้กลับมาคึกคักอีกครั้งได้อีกครั้ง
ตัวอย่างเช่น การทำสินค้า Limited Edition ช่วงเทศกาลคริสต์มาส ท่ีไม่ว่าจะแบรนด์ใดก็ไม่พลาดออกสินค้าลายเทศกาลนี้ออกมาให้แฟน ๆ ได้สะสม หรือซื้อไปเป็นของขวัญให้แก่กัน และบางทีถ้าขายดี สินค้าตัวนั้นก็อาจจะกลายมาเป็นสินค้าถาวรไปเลยก็เป็นได้ ดังนั้นข้อดีของการทำ Limited Edition จึงเป็นการสร้างกระแสในตลาดท่ีไม่ว่าแบรนด์เล็กหรือใหญ่ก็ทำได้ และถ้าทำได้ดีก็ถือว่าเป็นการลองตลาดก่อนจะพัฒนาไปเป็นสินค้าใหม่ ๆ ได้อีกด้วย
ตัวอย่างการทำการตลาดแบบ Limited Edition ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันดีก็คงหนีไม่พ้นแบรนด์สตรีทแฟชั่นขวัญใจเหล่าสเก็ตเตอร์จากนิวยอร์ค “Supreme” ที่ไม่ว่าจะออกสินค้าชิ้นไหนก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างถล่มทลายจากแฟน ๆ และบรรดานักสะสมตัวยง
ด้วยความเป็น Limited Edition ของแบรนด์ Supreme นั้นเริ่มต้นตั้งแต่จำนวนสาขาที่มีเพียงแค่ 11 สาขาเท่านั้น และสินค้าแต่ละคอลเลคชั่นที่ออกมาก็จะจำหน่ายในจำนวนจำกัด หากสินค้าจำหน่ายหมดแล้วก็จะปิดร้านเพื่อทำการเตรียมสินค้าคอลเลคชั่นต่อไป ความหาซื้อยาก เป็นเจ้าของยาก ทำให้บรรดาผู้ซื้อต้องขวนขวายที่จะได้สินค้ามาครอบครอง กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงให้สินค้าของ Supreme ยังคงได้รับเสียงตอบรับที่ดีและกลายเป็นของสะสมที่มีมูลค่ามาก
ดังนั้นก่อนที่จะทำการตลาดแบบ Limited Edition เราควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเป้าหมายคือคนกลุ่มไหน ทำเพื่ออะไร ต้องการได้อะไรกลับมา เนื่องจากการจำหน่ายสินค้าจำนวนจำกัดในระยะสั้น จะต้องใช้ต้นทุนในการผลิตและการโฆษณาอาจจะสูง จึงต้องอาศัยการสำรวจตลาดและการวางแผนที่รอบคอบ และที่สำคัญอย่าลืมว่าสินค้า Limited Edition ต้อง “ต้องพิเศษ” “ต้องจำกัด” และ “อย่าวางไว้นานเกินไป” จนรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องรีบก็เป็นเจ้าของได้ ซึ่งเป็นการทำลายเสน่ห์ของ Limited Edition ไปอย่างน่าเสียดายนั่นเองครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
#Createxhouse #Createx #LimitedEdition